![IATC Thailand Dance and Theatre Awards](https://www.maganetthailand.com/wp-content/uploads/2020/08/IATC-Thailand-Awards-09-รูปหมู่ศิลปินที่ได้รับรางวัลและนักวิจารณ์.jpg)
ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง จัดงานประกาศผลและมอบรางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย ครั้งที่ 8 ประจำปี 2562 (IATC Thailand Dance and Theatre Awards 2019) เมื่อวันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2563 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีการมอบรางวัลให้กับผลงานการแสดงซึ่งเปิดแสดงครั้งแรกระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2562 ที่มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 12 สาขา เพื่อส่งเสริมพัฒนาการละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของไทย สร้างเสริมวัฒนธรรมการวิจารณ์ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างศิลปิน ผู้ชม ผู้สนับสนุนศิลปะ สื่อมวลชน และนักวิจารณ์
สำหรับปีนี้ ยังคงมีศิลปินในวงการศิลปะการแสดง ผู้ชม และสื่อมวลชน มาร่วมงานอย่างอบอุ่น โดยได้นักแสดงคุณภาพอย่าง มาฬิศร์ เชยโสภณ และ อลิส ทอย ให้เกียรติมาเป็นพิธีกรบนเวทีเช่นเคย ก่อนเริ่มงานประกาศผลรางวัล ตัวแทนสมาชิกชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง ได้แก่ ‘กัลปพฤกษ์’ และ คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง ได้ร่วมพูดคุยถึงภาพรวมของละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยไทยในช่วงปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นปีที่พิจารณารางวัล พบว่าในปีนี้มีละครเพลง หรือมิวสิคัลเป็นจำนวนมาก และมีเนื้อหาการนำเสนอที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีการแสดงที่มีประเด็นเกี่ยวกับร่างกาย เช่น ละครที่มีนักแสดงผู้บกพร่องทางการมองเห็นร่วมแสดง และการแสดงที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสเรื่องราวโดยไม่ใช้สายตาดูโดยตลอดทั้งเรื่อง อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การแสดงละครเวทีและศิลปะการแสดงต่างๆ ก็ซบเซาลง แต่ก็พบการแสดงในรูปแบบใหม่ เช่น การแสดงละครผ่านเฟซบุ๊ก ไลฟ์ หรือโปรแกรม Zoom และการนำการแสดงเก่าๆ ที่บันทึกไว้มาฉายออนไลน์ ซึ่งก็หวังว่าหลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นแล้ว ละครเวทีและศิลปะการแสดงไทยจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
การประกาศผลและมอบรางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย ประจำปี 2562 ได้มีการมอบรางวัลผู้มีคุณูปการแก่ละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัย (Lifetime Achievement Award) ให้กับศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ นักวิจารณ์ที่มีผลงานโดดเด่นทั้งทางด้านศิลปะการแสดง ดนตรี และวรรณกรรม โดยได้ตีพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์มากมาย เช่น “ทางไปสู่วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์” “วิถีแห่งการวิจารณ์ : ประสบการณ์จากสามทศวรรษ” “พลังการวิจารณ์ : บทสังเคราะห์” รวมถึงเว็บไซต์ www.thaicritic.com
สำหรับการแสดงที่ได้รับรางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย ประจำปี 2562 ไปได้มากที่สุดจำนวน 3 รางวัล คือ A Midsummer Night’s Dream ละครเพลงเรื่องแรกของคณะละครฟิสิคัล B-floor Theatre ที่นำมาจากบทประพันธ์ของวิลเลียม เชกสเปียร์ โดยคว้ารางวัลไปได้ในสาขาละครเพลงยอดเยี่ยม บทสำหรับละครเพลงยอดเยี่ยม และการออกแบบศิลป์ยอดเยี่ยม
การแสดงที่ได้รับรางวัลไปใน 2 สาขาเท่ากัน มีทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่ Hand to God ละครประกอบหุ่นมือโดย Peel the Limelight กับสาขาละครเวที (ละครพูด) ยอดเยี่ยม และสาขาการแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงชาย จาก เจมส์ เลเวอร์ (James Laver) The (Un)Governed Body การแสดงฟิสิคัลของร่างกายที่ถูกกระทำโดย B-floor Theatre กับสาขาการแสดงที่ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายยอดเยี่ยม และสาขาการแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงกลุ่ม รวมถึง เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย การแสดงโดยไม่ใช้สายตาโดย Blind Experience ที่ดัดแปลงจากภาพยนตร์เรื่อง ‘สุสานหิ่งห้อย’ กับสาขาการกำกับการแสดงยอดเยี่ยม โดยกฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ และสาขาบทละครดัดแปลงยอดเยี่ยม
นอกจากนั้น สาขาการแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงหญิงตกเป็นของ ศิรพันธ์ วัฒนจินดา จากเรื่อง ‘นาง(ร้าย)’ที่เธอได้ถ่ายทอดตัวละครและตัวตนบนพื้นที่สื่อและชีวิตส่วนตัวผ่านการแสดงสดกึ่งสารคดีและสาขาบทละครดั้งเดิมยอดเยี่ยม ตกเป็นของMy Mother’s Kitchen โดย จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ ที่นำเสนอมุมมองของผู้หญิง 3 รุ่นที่มีต่อการมีคนรักเป็นชาวต่างชาติ
สรุปผลรางวัล
IATC Thailand Dance and Theatre Awards 2019
IATC Lifetime Achievement Award: รางวัลทรงเกียรติแด่ผู้ทรงคุณูปการต่อวงการศิลปะการแสดง
• ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ
Best Play: ละครเวที (ละครพูด) ยอดเยี่ยม
• Hand to God โดย Peel the Limelight
Best Musical: ละครเพลงยอดเยี่ยม
• A Midsummer Night’s Dream โดย B-floor Theatre
Best Movement–based Performance: การแสดงที่ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายยอดเยี่ยม
• The (Un)Governed Body โดย B-floor Theatre
Best Original Script of a Play or a Performance: บทละครดั้งเดิมยอดเยี่ยม
• My Mother’s Kitchen โดย จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ
Best Adapted Script of a Play or a Performance: บทละครดัดแปลงยอดเยี่ยม
• เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย โดย อิสระพงษ์ เตชะแก้ว ณัฐวดี กาญจนสูตร ศุภวัฒน์ หงษา และ สุดคณึง บูรณะรัชดา
Best Book of a Musical: บทสำหรับละครเพลงยอดเยี่ยม
• A Midsummer’s Night Dream โดย ปานรัตน กริชชาญชัย
Best Performance by a Male Artist: การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงชาย
• เจมส์ เลเวอร์ (James Laver) จาก Hand to God
Best Performance by a Female Artist: การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงหญิง
• ศิรพันธ์ วัฒนจินดา จาก นาง(ร้าย)
Best Performance by an Ensemble: การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงกลุ่ม
• คณะนักแสดงเรื่อง The (Un)Governed Body
Best Direction of a Play or a Performance: การกำกับการแสดงยอดเยี่ยม
• กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ จาก เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย
Best Art Direction of a Play or a Performance: การออกแบบศิลป์ยอดเยี่ยม
• คณะทำงานฝ่ายออกแบบจาก A Midsummer Night’s Dream